Tuesday, 19 March 2013

อิมแพ็ค ทุ่ม 10 ล้านขานรับนโยบายรัฐวางมาตรการประหยัดพลังงานป้องกันวิกฤตเดือนเมษายน

Published : 2013-03-05

อิมแพ็ค ขานรับนโยบายรัฐวางมาตรการประหยัดพลังงานป้องกันเหตุวิกฤตเดือนเมษายน เริ่มจากการสำรวจ วิเคราะห์ พร้อมทุ่มงบเกือบ 10 ล้านบาท พัฒนาระบบและเลือกใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน ย้ำแม้เกิดเหตุจริงมั่นใจไม่มีผลกระทบกับศูนย์ฯ ด้วยได้ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวงวางแผนรับมืออย่างดี และช่วงเวลาดังกล่าวมีการจัดงานน้อย อีกทั้งมั่นใจกับมาตรการที่วางไว้ตาม มอก.50001 ซึ่งมีประสิทธิภาพส่งผลให้ปี 55 ลดค่าไฟฟ้าได้แล้วถึง 21 ล้านบาท 

นายพอลล์  กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี เปิดเผยว่า ตามที่ภาครัฐได้ออกมาขอความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดพลังงาน ด้วยคาดการณ์กรณีที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า จะปิดปรับปรุงแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในช่วงวันที่ 4-12 เมษายน 2556 ซึ่งอาจจะกระทบกับการส่งก๊าซผลิตกระแสไฟฟ้าในไทย ทำให้ช่วงนั้นไทยต้องเจอกับวิกฤตไม่มีไฟฟ้าใช้ ทาง อิมแพ็ค ตระหนักและให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง

เบื้องต้นได้วางมาตรการประหยัดพลังงานของศูนย์ฯ โดยเริ่มจากการสำรวจอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานทั้งหมดของศูนย์เพื่อหาสัดส่วนของ การใช้พลังงานไฟฟ้าและความร้อน อุปกรณ์ชนิดใดบ้างมีการใช้พลังงานมากที่สุดจนถึงน้อยที่สุด ซึ่งพบว่าโดยเฉลี่ยสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ 90% และความร้อนอยู่ที่ 10% หลังจากนั้นได้มาวิเคราะห์พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในศูนย์ฯ 90% มาจากระบบปรับอากาศ 56% ไฟฟ้าแสงสว่าง 16% ร้านค้า 4% ครัว 6% ไฟบูธเอ็กซิบิชั่น 8% และอื่นๆ อีก 10% ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อมูลแล้วจึงนำมาวิเคราะห์และกำหนดมาตรการประหยัดพลังงานที่จะ ดำเนินการทันที

โดยเน้นในส่วนของมาตรการที่ไม่ต้องลงทุนเป็นอันดับแรก เช่น การปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติงาน การใช้ระบบเปิดปิดไฟฟ้าเป็นเวลา การใช้สวิทซ์ไฟกระตุก การลดใช้ในส่วนที่ไม่จำเป็น เป็นต้น และหลังจากนั้นได้พิจารณามาตรการที่ลงทุนน้อยไปจนถึงมากในการจัดหาระบบและ เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดค่าพลังงานไฟฟ้าในศูนย์ฯ ภายใต้งบลงทุนรวมแล้วกว่า 10 ล้านบาท ได้แก่ 1.) การปรับเปลี่ยนระบบเซนเซอร์ มาใช้ในการควบคุมการทำงานระบบปรับอากาศอัตโนมัติ ซึ่งสามารถปรับความแรงของลมได้ตามอุณหภูมิที่ตั้งไว้ใกล้เคียงความจริง มากกว่าการใช้คนวัดอุณหภูมิและปรับตั้งค่าความเย็น งบประมาณ 9 แสนบาท 2.) ระบบไฟแสงสว่าง อิมแพ็ค ได้เปลี่ยนมาใช้หลอด LED โดยคาดว่าปี 2556 บริษัทฯ จะทยอยเปลี่ยนหลอดไส้แบบเดิมเป็นหลอด LED แทนได้ทั้งหมด งบประมาณ 3 ล้านบาท 3.) ระบบควบคุมไฟแสงสว่าง บริษัทฯ จะดำเนินการแยกระบบไฟแสงสว่างให้สามารถเปิดได้อิสระแบบ 1 ดวงต่อ 1 สวิทซ์ ซึ่งใช้งบประมาณ 1 ล้านบาท และสุดท้ายการติดตั้งเครื่อง Chiller หรือเครื่องทำความเย็นในระบบปรับอากาศ ใหม่โดยเลือกใช้ chiller ที่มีประสิทธิภาพสูงมาติดตั้งในพื้นที่เพิ่มเติมใช้งบประมาณ 5 ล้านบาท

นายพอลล์ กล่าวเสริมว่า ในปี 2555 อิมแพ็ค สามารถประหยัดค่าพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 21 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 13 ล้านบาท จากยอดการจัดงานเฉลี่ยต่อปี 800 งาน มีค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้ารวม 150 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสิ่งสำคัญและถือเป็นหัวใจหลักที่ช่วยให้ อิมแพ็ค ประหยัดค่าพลังงานไฟฟ้าได้สำเร็จมาจากการประกาศดำเนินงานตาม มอก.50001 หรือมาตรฐานด้านการประหยัดพลังงาน เมื่อปี 2554 มาอย่างต่อเนื่อง และอีก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.การให้การสนับสนุนของคณะผู้บริหารระดับสูงที่เล็งเห็นความสำคัญในการ ประหยัดพลังงาน ปัจจัยที่ 2 การสร้างยอดขายพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นของฝ่ายขายทำให้การใช้พลังงานมีความคุ้ม ค่ามากขึ้น และปัจจัยสุดท้ายคือการให้ความร่วมมือที่ดีและการมีส่วนร่วมของพนักงานภายใน บริษัทและความร่วมมือจากความเข้าใจเรื่องการช่วยประหยัดพลังงานของลูกค้า

อย่างไรก็ตาม หากเกิดวิกฤตพลังงานไฟฟ้าในเดือนเมษายนตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบกับศูนย์ฯ  ด้วยอิมแพ็คได้เตรียมมาตรการป้องกันเหตุไฟฟ้าขัดข้องดังกล่าวไว้เป็นอย่างดี กอรปกับช่วงเวลาดังกล่าวพื้นที่อิมแพ็คมียอดจองจัดงานเพียง 9 งาน โดยเป็นงานประชุม สัมมนา งานแสดงคอนเสิร์ต และงานแต่งงาน ซึ่งยอดจัดงานสิ้นสุด ณ วันที่ 9 เมษายน 2556 หลังจากนั้นเป็นช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์ทำให้ไม่มียอดจองจัดงานและจะเริ่มจะ จัดงานอีกครั้งหลังสงกรานต์ แต่เพื่อเป็นการไม่ประมาททางอิมแพ็คได้ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง เขตนนทบุรี วางมาตรการป้องกันเหตุแล้วขณะนี้

โดยในส่วนของการไฟฟ้านครหลวงแจ้งว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้วางมาตรการป้องกันหลักๆ ไว้แล้ว อาทิ การเตรียมพร้อมน้ำมันเตา, น้ำมันดีเซล และอื่นๆ สำหรับผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซ และหากเกิดเหตุกำลังผลิตไฟฟ้าไม่พอเพียงเกิดขึ้นจริง การไฟฟ้านครหลวง เขตนนทบุรี จะทำการปลดสายป้อนไฟฟ้าในพื้นทีที่ไม่ใช่เขตธุรกิจออกบางส่วนก่อน เพื่อคงไฟฟ้าให้เขตธุรกิจใช้งานได้อย่างต่อเนื่องตามปกติ โดยเฉพาะศูนย์อิมแพ็ค จะไม่มีผลกระทบโดยเด็ดขาด

สำหรับอิมแพ็คขณะนี้ได้แจ้งกับลูกค้าเพื่อทราบถึงมาตรการเตรียมความพร้อมรับ มือกับเหตุดังกล่าว เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจกับการจัดงานตามกำหนดเดิมพร้อมขอความร่วมมือลูกค้าให้ เข้าใจในมาตรการประหยัดพลังงาน โดยแจ้งรายละเอียดถึงการดำเนินงาน เช่น การลดชั่วโมง Pre Cool ลงจาก 2 ชั่วโมง เหลือ 1 ชั่วโมง ก่อนเวลาเปิดแสดงงาน การปิดเครื่อง Chiller ก่อนเวลาปิดระบบปรับอากาศให้เร็วขึ้นจาก 30 นาทีก่อนเวลาปิดแสดงงานเป็น 45-60 นาทีตามเหมาะสม การปรับตั้งอุณหภูมิความเย็นจากเดิมไว้ที่ 23-24 องศา เป็น 25-26 องศา และสุดท้ายการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบห้องต่างๆ ว่าได้ทำการปิดแอร์ และไฟแสงสว่างโดยทันทีเมื่อเลิกใช้งาน ซึ่งลูกค้าผู้จัดงานรับทราบและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
 
-จบ-
 
สื่อมวลชนต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:
สำนักงานฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด
จินตนา  พงษ์ภักดี
โทร:
+66 (0) 2833 5061
อีเมล์:
 jintanap@impact.co.th
สวภัทร์  พิมพ์ใจชน
โทร:
+66 (0) 2833 5073
อีเมล์:
 sawapatp@impact.co.th
สุภาพร  บุญขาว
โทร:
+66 (0) 2833 5077
อีเมล์:
 supapornb@impact.co.th

0 comments:

Post a Comment